“พระภูมิ” แปลอย่างตรงตัวแปลว่า “เจ้าที่” คนจีนเรียก “ตี่จู้เอี๊ยะ” คือ เจ้าที่ผู้ดูแลพื้นดิน “ศาลพระภูมิ” (Spirit House) คือ ที่สิงสถิตของพระภูมิ เพื่อปกปักรักษา ปกป้องดูแล บ้านเรือน เคหสถาน อาคาร สถานที่ต่างๆ รวมทั้งเรือกสวนไร่นา ตามความเชื่อของคนไทยในทุกภาคของประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณและยึดถือปฏิบัติบูชาสืบต่อกันมาช้านานจวบจนปัจจุบัน จะเห็นได้จาก ‘ศาลพระภูมิ’ ที่ปรากฏในบริเวณอาคารบ้านเรือน เคหสถาน และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
หลากหลายความเป็นมาของพระภูมิเจ้าที่
เรื่องราวความเป็นมาของพระภูมิเจ้าที่ มีหลากหลายตำนาน ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกัน อาทิ … กาลครั้งหนึ่ง มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าทศราช มีพระมเหสีพระนามว่า พระนางสันทาทุกข์ ครอบครองสิริราชสมบัติอยู่ที่กรุงพาลี มีโอรสทั้งหมด 9 พระองค์ เมื่อพระราชโอรสทรงเจริญวัย มีพระปรีชาสามารถ พระเจ้าทศราชจึงให้ไปครอบครองภูมิสถานที่ต่างๆ ดังนี้
องค์ที่ 1 พระชัยมงคล ดูแลเคหสถานร้านโรง หอห้องค้าขาย
องค์ที่ 2 พระนครราช ดูแลค่ายทวารและบันได
องค์ที่ 3 พระเทวเถร ดูแลคอกสัตว์ ช้างม้า โคกระบือ
องค์ที่ 4 พระชัยสพ (บ้างเรียกพระโพสพ) ดูแลยุ้งฉาง กองเสบียง กองคลัง
องค์ที่ 5 พระคนธรรพ์ ดูแลโรงพิธีอาวาหมงคลและวิวาหมงคล เรือนหอบ่าวสาว
องค์ที่ 6 พระธรรมโหรา ดูแล เรือกสวนไร่นา ป่าเขา ท้องทุ่ง ป่าไม้
องค์ที่ 7 พระวันทัต ดูแล อารามโบสถ์วิหาร และปูชนียวัตถุต่างๆ
องค์ที่ 8 พระธรรมกฤช ดูแลอุทยาน สวนผลไม้ พืชพันธุ์ไม้
องค์ที่ 9 พระธารธารา ดูแลแม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง
ต่อมาพระเจ้าทศราชหรือพระเจ้ากรุงพาลี มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ร้อนไปถึงองค์พระนารายณ์ ทรงอวตารเป็นพราหมณ์น้อยมาขอที่อยู่ต่อพระเจ้ากรุงพาลีเพียง 3 ย่างก้าว เพื่อบำเพ็ญพรต พระเจ้ากรุงพาลีทรงอนุญาตให้และหลั่งน้ำอุทกธาราอุทิศ
พระนารายณ์จึงแปลงกลับเป็นพระนารายณ์ 4 กร และเริ่มย่างก้าว ก้าวไปเพียงก้าวแรกก็หมดเขตพระธรณี จึงขับไล่เจ้ากรุงพาลีให้ออกไปอยู่ป่าหิมพานต์ เจ้ากรุงพาลีและพระภูมิเจ้าที่ได้รับความทุกข์ ความอดอยากแสนสาหัส จึงกลับมาทูลขอที่ดินกลับคืน พระนารายณ์ทรงอนุญาตว่า ผู้ที่จะทำงานมงคลทั้งปวงต้องบูชาสังเวยพระภูมิเจ้าที่ก่อน เพราะเขาเป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อบูชาสังเวยแล้วจะเกิดสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล
ส่วนใน “คัมภีร์พรหมจุติ” ได้กล่าวว่า
… เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นมาในโลกในสมัยหนึ่งนั้น เจ้ากรุงพาลีซึ่งครองกรุงพาลีได้ทำกรรมเบียดเบียน ริษยา และกล่าวมุสาวาทแก่คนทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงคิดทำโทษเจ้ากรุงพาลี โดยทรงขอที่ดินจากเจ้ากรุงพาลี 3 ก้าว เจ้ากรุงพาลีเห็นว่าขอเพียงเล็กน้อยก็ถวายให้ตามที่พระพุทธเจ้าต้องการ พระพุทธเจ้าจึงประกาศแก่เทพยดาให้เป็นพยานว่า เจ้ากรุงพาลีได้ยกที่ให้พระองค์แล้ว 3 ก้าว ประกาศแล้วพระองค์ก็ทรงก้าวเดินไปด้วยพุทธาภินิหาร เมื่อทรงก้าวย่างเพียง 2 ก้าวก็ถึงขอบเขตจักรวาล
เจ้ากรุงพาลีและพระภูมิเจ้าที่จึงไม่มีที่อยู่ ต้องออกไปนอกเขตจักรวาล ทำให้อดอยากในเครื่องสังเวยต่างๆ เจ้ากรุงพาลีจึงให้พระภูมิเจ้าที่มาทูลขอเครื่องสังเวยและขอที่ดินคืน พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตว่า ต่อไปนี้ถ้าผู้ใดจะสร้างบ้านเรือนหรือก่อพระเจดีย์ ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ สร้างพระวิหาร ทำสถานที่ปลูกสร้างศาลา ปั้นพระพุทธรูป บวชพระภิกษุ หรือทำการมงคลใดๆ ก็ให้จัดที่เป็นที่ตั้งศาลพระภูมิ กว้าง-ยาวพอสมควรไว้ในบริเวณมงคลพิธี
ศาลพระภูมิต้องมีฐานเสายาวสูงขึ้นไป
สาเหตุที่ ‘ศาลพระภูมิ’ บ้านเราเป็นเสายาวขึ้นไปก่อนเป็นตัวศาลด้านบนนั้น ก็ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า … จากที่ท้าวทศราชและพระโอรส สำนึกผิดและมาขอที่อยู่ พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่าที่ทั้งหลายเป็นเขตพุทธาวาส แต่ควรมีผู้ดูแลคุ้มกันภัยต่อไป จึงให้ทำเสาเอกยกจากพื้นเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ให้มุ่งคอยดูแลปกปักรักษาสถานที่ต่างๆ และตัวศาลให้ตั้งลอยอยู่บนอากาศเป็นการแสดงว่ามิได้แย่งที่ซึ่งถวายให้ศาสนาคืน ตำนานนี้เค้าโครงคล้ายกับทางอินเดีย
พระภูมิ หรือพระชัยมงคล
องค์พระภูมิที่สถิตตามบ้านเรือนจะมีพระนามว่า “พระชัยมงคล” สถิตอยู่ใน “เจว็ด” ซึ่งมีลักษณะเหมือนแผ่นไม้ ปัจจุบันทำเป็นแผ่นพลาสติก ทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ ถือถุงเงินถุงทองคอยแจกทรัพย์ให้เจ้าของสถานที่ มีบริวาร 3 ตน ชื่อ จันทิศ จันที และจ่าประสพพระเชิงเรือน คอยดูแลรับใช้ ซึ่งทุกบ้านช่องถือว่า “ศาลพระภูมิ” จะช่วยพิทักษ์ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขและทำมาค้าขึ้น และควรจะถวายเครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องสังเวยเป็นประจำไม่ให้ขาด เพื่อท่านจะได้ช่วยอำนวยโชคลาภป้องกันเภทภัยต่างๆ ให้กับเรา
ตั้งศาลพระภูมิมีเคล็ดลับ ตั้งไม่มีดีเป็น อวมงคล แก่ชีวิต
สำหรับ “การตั้งศาลพระภูมิ” นั้น จะตั้งเองตามใจชอบไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่าถ้าตั้งศาลพระภูมิไม่ถูกต้องตามตำราและพิธีการแล้ว จะนำความพินาศมาสู่ครอบครัว ดังนั้นจะต้องตั้งโดยผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญมาทำพิธีให้ถูกต้องทุกประการ นับตั้งแต่การตั้งให้ถูกทิศ กำหนดวันที่เป็นสิริมงคล การบวงสรวงอัญเชิญที่ถูกต้อง และเมื่อตั้งศาลพระภูมิแล้วจะต้องทำการสักการบูชาและกล่าวคาถาให้ถูกต้องด้วยครับผม